สายตาช่วงอายุระหว่าง 11-25 ปี[AT022]

สายตาช่วงอายุระหว่าง 11-25 ปี

วัยนี้เป็นวัยแห่งการศึกษาเล่าเรียน จึงมีกิจกรรมที่ต้องใช้สายตามาก เช่น การเรียนหนังสือ อ่านหนังสือเตรียมสอบ ทำการบ้าน เล่นเกมส์ เล่นคอมพิวเตอร์ ฯลฯ คนในวัยนี้ต้องใช้สายตาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นเมื่อการมองเห็นมีปัญหาจึงส่งผลต่อกิจกรรมต่างๆอย่างหนีไม่พ้น ทำให้การเรียนรู้ถูกจำกัด ดังนั้นคนในวัยนี้จึงควรได้รับการตรวจสายและแก้ไขให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและสบายตาอยู่เสมอ

Myopic shift & Myopic control  (สายตาสั้น และการควบคุมสายตาสั้น)

วัยนี้เป็นวัยแห่งการเจริญเติบโต ในทางร่างกายจะมีความสูงเพิ่มขึ้น โครงสร้างร่างกายเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น นอกจากการเจริญเติบโตทางร่างกายแล้ว สายตาก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยเด็กวัยนี้ค่าสายตามีแนวโน้มที่จะสายตาสั้นเพิ่มขึ้น (หรือสายตายาวน้อยลง) สาเหตุในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้องกับสายตาสั้นเพิ่มเช่น พันธุกรรม กระบอกตาที่ยาวขึ้น การใช้สายตาระยะใกล้เป็นเวลานาน การมีกิจกรรมกลางแจ้งน้อย ฯลฯ อนึ่งค่าสายตาที่สั้นเพิ่มขึ้น ส่งผลเสียหลายอย่างเช่น

เลนส์แว่นตาหนาขึ้น ทำให้แว่นหนักขึ้น มีผลทั้งทางด้านความสวยงาม และความสบายตา เนื่องจากยิ่งเลนส์หนาขึ้น ยิ่งทำให้แว่นมีน้ำหนักมากขึ้น และยังทำให้เกิดความไม่สบายตาเมื่อเหลือบมองด้านข้าง เนื่องจากผลของปริซึม (Prismatic Effect) และความบิดเบือนของภาพเมื่อมองผ่านเลนส์ด้านข้าง (Aberration)

ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก นอกจากจะทำให้ต้องใส่แว่นหนาแลดูไม่สวยงามแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย

http://www.mrcophth.com/

จอตาบางลง สายตาที่สั้นมากขึ้น ถ้าเกิดเนื่องจากกระบอกตาที่ยาวขึ้น จะทำให้จอตาบางลง(คล้ายการเป่าลูกโป่ง ถ้าเป่าลูกโป่งให้ใหญ่ขึ้น เนื้อลูกโป่งก็จะบางลง) ถ้ากระบอกตายาวขึ้นมาก(สายตาสั้นเกิน -6.00D) จะมีความเสี่ยงต่อจอตาหลุดลอกและโรคที่เกี่ยวกับจอตามากขึ้นด้วย

สายตาสั้นมาก ทำให้จอตาบางลงและมีโอกาสเกิดจอตาฉีกขาดหลุดลอก หรือจอตาเสื่อมมากขึ้น ดังรูปซ้ายมือ

http://www.mrcophth.com

ชีวิตลำบากถ้าขาดแว่น ผู้มีสายตาสั้นน้อย อาจยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแม้ไม่มีแว่นตา แต่ผู้ที่มีสายตาสั้นมากส่วนใหญ่มักต้องใส่แว่นทั้งวันยกเว้นตอนนอน ดังนั้นเมื่อแว่นตาหายหรือชำรุด จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินชีวิต

มีข้อจำกัดในบางกิจกรรม การมีค่าสายตาสูงอาจเป็นอุปสรรคกับการทำกิจกรรมเช่น การดำน้ำ ชกมวย เล่นฟุตบอลฯลฯ

เสียค่าใช้จ่ายในการตัดแว่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากสายตาสั้นขึ้นจะต้องใส่เลนส์ที่หนาตามไปด้วย  ผู้ใส่ที่เน้นความสวยงามจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มถ้าต้องการใช้เลนส์ย่อบาง (High Index) ซึ่งทำให้เลนส์แว่นตาบางลง  และถ้าต้องการคุณภาพของการมองเห็นมากขึ้น อาจต้องใช้เลนส์ที่แก้ไขการบิดเบือนของภาพซึ่งมีราคาแพงกว่าเลนส์ปกติ

มีข้อจำกัดในการเลือกกรอบแว่นตา เนื่องจากถ้ากรอบแว่นตามีขนาดใหญ่ จะยิ่งทำให้ขอบเลนส์ดูหนา ส่วนใหญ่จึงต้องใช้แว่นตาที่มีกรอบขนาดเล็ก และมักต้องใช้กรอบพลาสติกหนา เพื่อปกปิดความหนาของขอบเลนส์

ดังที่กล่าวมาจะเห็นว่าสายตาที่สั้นมากทำให้มีข้อเสียตามมามากมาย โดยในปัจจุบันมีนักวิจัยจำนวนไม่น้อยที่พยายามค้นหาวิธีที่จะหยุดหรือชลอสายตาไม่ให้สั้นเพิ่ม โดยงานวิจัยบางชิ้นรายงานถึงความสำเร็จในการชลอให้สายตาสั้นช้าลงได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาหยอดตาลดการเพ่ง การใช้แว่นตาและเลน์โปรเกรสซีฟเพื่อควบคุมสายตาสั้น การใช้คอนแทคเลนส์ การมีกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น การลดกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาระยะใกล้ลง ฯลฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าต้องมีการวิจัยอีกหลายปีเพื่อหาข้อสรุปถึงผลของวิธีต่างๆ อย่างไรก็ดีผู้ปกครองบางท่านก็ยินดีให้ใช้เลนส์ควบคุมสายตาสั้นกับบุตรหลานของตนเพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ไม่อันตรายและดีกว่าไม่ทำอะไร อนึ่ง ถ้ามีวิธีที่สามารถชลอหรือหยุดสายตาสั้นได้ จะเป็นผลดีต่อคนจำนวนมาก เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่มีสายตาสั้นใส่แว่นที่มีเลนส์บางลงไปตลอดชีวิต

กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตามนุษย์ มีความซับซ้อนและมีตัวแปรมากมาย แต่จากการเก็บข้อมูลเชิงสถิติได้ผลว่า ในช่วงอายุระหว่าง 4-30 ปี สายตามีแนวโน้มที่จะสั้นเพิ่มขึ้น และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทางสั้นน้อยลง(ยาวเพิ่มขึ้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอายุ 55  ปีไปแล้ว (Grosvenor) ทั้งนี้ สายตายาวดังกล่าว (Hyperopia) เป็นคนละชนิดกับตายาวสูงอายุ (Presbyopia) ซึ่งมักเริ่มเกิดเมื่ออายุย่างเข้า 40 ปี

ข้อควรปฏิบัติ

  1. ตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี-วัยนี้เป็นวัยที่ต้องใช้สายตามาก และมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาอยู่ตลอดเวลา การมองเห็นได้ไม่ชัดเจนจะทำให้การเรียนรู้ถูกจำกัด ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง
  2. ปกป้องดวงตาจากสิ่งแวดล้อม-ใช้แว่นตาที่ป้องกันรังสีUV เมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้เลนส์เหนียวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางตา ถ้าต้องทำกิจกรรมที่ใช้ความเร็ว มีความเสี่ยงต่อการกระทบกระแทกหรือสิ่งของกระเด็นเข้าสู่ดวงตา
  3. ในผู้ที่มีสายตาสั้นมาก-พยายามลดกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาระยะใกล้ (เช่น เล่นเกมส์ เล่นคอมพิวเตอร์) และเพิ่มกิจกรรมกลางแจ้งเช่น เล่นฟุตบอล วิ่งออกกำลังกาย ฯลฯ จากงานวิจัยระบุว่า เด็กที่อยู่ในเมือง มีกิจกรรมกลางแจ้งน้อยและต้องใช้สายตาระยะใกล้มาก มีอัตราส่วนของผู้ที่เป็นสายตาสั้นสูงกว่ามาก เมื่อเทียบกับเด็กในชนบท ที่มีกิจกรรมการใช้สายตาระยะใกล้น้อยกว่า และมีกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่า
  4. สำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจตา เนื่องจากต้อหินมีลักษณะติดต่อทางพันธุกรรม มีโอกาสเกิดตั้งแต่อายุยังน้อย

ความเชื่อผิดๆ

  1. การใส่แว่นทำให้สายตาสั้นเร็วขึ้น

  ที่ถูกต้อง งานวิจัยระบุว่า การใส่แว่นไม่ทำให้สายตาสั้นเร็วขึ้น

  1. ผู้ที่มีสายตาสั้นน้อยๆ อาจไม่ต้องใส่แว่นเพื่อทำงานระยะใกล้ก็ได้

  ที่ถูกต้อง ในการทำงานระยะใกล้เป็นครั้งคราว หรือทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจไม่ต้องใส่แว่นก็ได้ แต่ถ้าจะทำงานเป็นระยะเวลานานๆ เช่น โปรแกรมเมอร์ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์วันละ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ควรใส่แว่นตลอดเวลาแม้จะสามารถมองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น เนื่องจากการไม่ใส่แว่นเพื่อทำงานระยะใกล้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้สมดุลของระบบ Binocular Vision เสียไป (Accommodation, Vergence) ทำให้มีแนวโน้มการเกิดปัญหาทาง Binocular Vision เมื่ออายุมากขึ้น(เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้สายตาสั้นน้อยๆ ที่ไม่ใส่แว่นและต้องใช้คอมพิวเตอร์วันละเกิน 8 ชั่วโมง)

สิ่งที่ควรรู้

  1. อาการของสายตาสั้น (Myopia) – มองไกลไม่ชัด แต่มองใกล้ชัด
  2. อาการของสายตายาว (Hyperopia) – มองไกลชัดกว่ามองใกล้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังการเพ่งและขนาดของสายตายาวด้วย  โดยถ้ากำลังการเพ่งยังดีอยุ่และมีสายตายาวไม่มาก อาจมองเห็นได้ชัดทั้งที่ไกลและใกล้
  3. สายตาเอียง (Astigmatism) – มองไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ อาจสังเกตเห็นตัวหนังสือซ้อนหรือมีเงา
  4. สายตายาวสูงอายุ (Presbyopia) – เกิดเมื่ออายุเรื่มเข้า 40 ปี ทำให้เมื่อใส่แว่นที่มองไกลชัด จะทำให้เวลามองใกล้ไม่ค่อยชัด และจะชัดขึ้นเมื่อระยะของสิ่งที่มองไกลจากตามากขึ้น

สังเกตุบุตรหลานของท่านสักนิด

เด็กที่มีปัญหาทางสายตา มักไม่รู้ตัวเองว่ามีปัญหาทั้งๆที่เห็นไม่ชัด เนื่องจากเขาคิดว่าคนทุกคนก็เห็นอย่างที่เขาเห็น  ดังนั้นผู้ปกครองและครูจึงมีหน้าที่ในการสังเกตเด็กว่ามีปัญหาทางสายตาหรือไม่ การแสดงออกบางอย่างของเด็กอาจเกิดจากปัญหาสายตาของเด็กก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น

  1. เด็กหยีตามอง ขมวดคิ้วหรือชอบขยี้ตา
  2. เมื่อให้จดงานบนกระดาน มักจะต้องลอกจากเพื่อนคนข้างๆ
  3. ไม่สนใจสิ่งที่ครูสอน
  4. ไม่ชอบไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ชอบทำกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหว

อนึ่งปัญหาทางสายตาของเด็ก ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการแก้ไข อาจส่งผลเสียทั้งต่อตัวเด็กและต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น

  1. ผลการเรียนไม่ดี เพราะเรียนตามเพื่อนไม่ทัน
  2. ไม่ตั้งใจเรียน เพราะเรียนไม่ทัน
  3. ไม่สนใจที่ครูสอน เพราะมองกระดานดำไม่เห็น
  4. ขาดความมั่นใจ เนื่องจากคนอื่นเรียนได้แต่ตนทำไม่ได้
  5. เด็กอาจไม่อยากเรียน หรือหนีเรียนในที่สุด เนื่องจากตัวเองเรียนได้ไม่ดี
note music
note music_blur
การมองเห็นไม่ชัดเจน เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก

นอกจากปัญหาทางสายตาแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆที่เกิดจากความบกพร่องของการประมวลผลการมองเห็น (Visual Information Processing) หรือความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disability) ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาดังตัวอย่างเช่น

  1. ความบกพร่องทาง Visual Information Processing (VIP) (การประมวลผลจากสิ่งที่เห็นเพื่อไปทำกิจกรรมอื่นๆต่อ) ตัวอย่างเช่น จำคำศัพท์ได้ช้า ลำบากกับการอ่านแผนที่ ลายมืออ่านยาก อ่านหนังสือได้ช้า คิดสิ่งที่ซับซ้อนไม่ได้ ลำบากในการเดินในบ้านตัวเองในที่มืด ความจำสั้น กะระยะไม่ค่อยได้ สับสนด้านซ้ายขวา จดงานตามอาจารย์ไม่ทัน คิดช้า ไม่ค่อยทันเพื่อน ขาดทักษะทางด้านกีฬา ฯลฯ
  2. ความบกพร่องทางการอ่าน (Dyslexia)
  3. ความบกพร่องทางการพูดและภาษา (Aphasia)
  4. ความบกพร่องทางการเขียน (Dysgraphia)
  5. ความบกพร่องทางการคำนวณ (Dyscalculia)
  6. ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว (Dyspraxia)

อนึ่ง ปัญหาต่างๆเหล่านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ถ้าสาเหตุเกิดจาก VIP นักทัศนมาตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านตาเด็ก จะสามารถทำการทดสอบเพื่อหาต้นเหตุของความผิดปกติ และทำการบำบัดโดยการฝึกฝนทักษะที่บกพร่อง ให้มีความสามารถใกล้เคียงหรือเทียบเท่าคนปกติได้